บล็อกเกอร์นี้จัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะใช้ในการเรียนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม



วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
          วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และมีจิตสำนึกที่รับใช้สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางทางวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ

ปรัชญา ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน (พหุนํ ปณฺฑิโต ชีเว)


ปณิทาน
         วิทยาลัยการเมืองการปกครองมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และมีจิตสำนึกที่รับใช้สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ

วิสัยทัศน์
         วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

หลักสูตรที่เปิดสอน
ระดับปริญญาตรี
๑) รัฐศาสตร์บัณฑิต(ร.บ.) ประกอบด้วย เอกการเมืองการปกครอง เอกบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

๒) นิติศาสตร์บัณฑิต(น.บ.)
๓) คู่ขนานนิติศาสตร์บัณฑิตและศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาสิทธิมนุษยชน(น.บ. และ ศศ.บ.) 5ปี2ปริญญา
๔) รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (รป.บ.) สาขาบรอหารท้องถิ่น
หลักสูตรปริญญาโท
๑) รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต(ร.ม.) สาขาการเมืองการปกครอง
๒)รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (รป.ม.) สาขานโบยสาธารณะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
             เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ในระหว่าง พ.ศ. 2549-2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 1 ในวันเดียวกันนั้น และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ ประธาน สนช. จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
             เนื่องจากในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ การร่างจึงดำเนินไปบนความร้อนแรงทางการเมือง เผชิญหน้าทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ต่อต้าน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นขั้นตอนการร่าง อาทิ การขาดความมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชน การที่ คมช. ผูกขาดการสรรหาสมาชิก สสร. และในเนื้อหาสาระของร่าง อาทิ มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรม คมช. เองสำหรับการก่อรัฐประหาร
             รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีประเด็นที่แก้ไขคือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และข้อกำหนดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190)


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระตามหมวดต่างๆ ดังต่อไปนี้


คำปรารภ
หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 1-7)
หมวด 2 พระมหากษัตริย์ (มาตรา 8-25)
หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (มาตรา 26-69)
หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย (มาตรา 70-74)
หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75-87)
หมวด 6 รัฐสภา (มาตรา 88-162)
หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน (มาตรา 163-165)
หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ (มาตรา 166-170)
หมวด 9 คณะรัฐมนตรี (มาตรา 171-196)
หมวด 10 ศาล (มาตรา 197-228)
หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 229-258)
หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (มาตรา 259-278)
หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 279-280)
หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 281-290)
หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 291)
บทเฉพาะกาล (มาตรา 292-309)

ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2540
              รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ ดังจะเห็นว่ามีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ
             รัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับการกล่าวขานว่ามีความก้าวหน้าเนื่องจากนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่ลอกเลียนจากต่างประเทศมาใช้ แต่เมื่อบังคับใช้จริงก็ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย เพราะเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางทั้งกรณีการฆ่าตัดตอน 2 พันศพ อุ้มฆ่าแกนนำภาคประชาชนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ เช่น กรณีของ สมชาย นีละไพจิตร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกวิจารณ์ว่าทำให้ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งเกินไปจนเกิดระบบผู้นำกึ่งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญ 2550 จึงถูกวิจารณ์ว่ามีอคติต่อ "ระบอบทักษิณ" ที่มีคำอธิบายว่าเป็นเผด็จการทุนนิยม ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผู้นำเดี่ยวที่สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ละเลยต่อเสียงปัญญาชนในสังคม สุดท้ายจึงสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยจนก่อตัวเป็นวิกฤตการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นพฤติกรรมของระบอบทักษิณ เช่น ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร การทำเอฟทีเอต้องฟังความเห็นจากรัฐสภา เข้มงวดต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจริยธรรมของนักการเมือง สร้างมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
             จุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 คือบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น รัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้สิทธิแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตน ที่สำคัญคือให้มีผลบังคับทันที ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุข้อความท้ายมาตราต่างๆ ว่า "ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ" หมวดที่ได้รับการบัญญัติขึ้นมาใหม่ เช่น "สิทธิชุมชน" ชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน หรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ หมวด "การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน" ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนมีโอกาสยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึงการ ให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ฯลฯ
               หมวด "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคม และปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือ หากรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาที่มีผลต่อความมั่นคงทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น เอฟทีเอต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จุดเด่นอื่น ๆ คือ มาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็งขึ้น เช่น ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนคู่สมรสและบุตร ห้ามรับหรือแทรกแซงสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. แสดงบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และได้เพิ่มหมวด "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ" สร้างกลไกควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบตรวจสอบโดยรื้อที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการสรรหาอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต
              อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงในประเด็นโครงสร้างของสถาบันการเมือง เช่น ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. หรือการให้อำนาจฝ่ายตุลาการเข้ามาแก้ปัญหาฉ้อฉลทางการเมือง ด้วยการเพิ่มบทบาทในการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่องค์กรอิสระ และร่วมสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน เป็นที่มาของข้อครหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย ที่ให้อำนาจชนชั้นนำกับขุนนางผ่านทางวุฒิสภาและตุลาการเพื่อสร้างฐานอำนาจ แต่คำชี้แจงอีกด้านกล่าวว่า สภาพวัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบัน การให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยหวังว่าจะปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมืองคงยังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้ง ส.ว. สองครั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในสภาพ "สภาผัวเมีย-สภาบริวาร" ขณะที่การสรรหา ส.ว.อาจได้ตัวแทนหลายสาขาอาชีพกว่า ทำให้การทำงานด้านนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพ อีกประเด็นหนึ่งคือการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. ไปใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เป็นที่เกรงกันว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพราะผู้สมัครในพรรคเดียวกันจะแย่งคะแนนกันเอง และการทุ่มเงินซื้อเสียงจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเขตเดียวคนเดียว โครงสร้างการเมืองใหม่ที่ลดการผูกขาดอำนาจ มีมาตรการตรวจสอบมากมาย และให้สิทธิประชาชนฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญหากรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่อ่อนแอลง แต่ผู้ร่างชี้แจงว่ากติกาเช่นว่านี้บังคับให้รัฐบาลต้องตอบสนองประชาชน หากละเมิดต่อหลักรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ลำบาก
               นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีที่เคยระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 จึงทำให้รัฐมนตรีอาจมาจาก ส.ส. ทั้งสองระบบโดยไม่ต้องมีการเลื่อนรายชื่อหรือจัดการเลือกตั้งใหม่


ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki