บล็อกเกอร์นี้จัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะใช้ในการเรียนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

แนวโน้มสังคมการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง

แนวโน้มสังคมการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง


สุริยันต์ ทองหนูเอียด



ในที่สุดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็เป็นไปตามปกติวิถีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มิได้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์


เนื้อหาสถานการณ์โดยภาพรวมของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้มีความพยายามของหลายฝ่ายสร้างนิยามความหมายของการเลือกตั้ง เพื่อให้คนโดยทั่วไปเชื่อได้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ถือว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้มีผู้ใด ทำให้ชัดเจนได้ว่า การเลือกตั้งนั้น ไม่ได้หมายว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ถือว่าประเทศนี้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง


ขณะเดียวกันหลายฝ่ายได้มีการนำเสนอที่ทำให้เข้าใจว่า หรือเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการกำหนดชะตากรรมอนาคตของประเทศและเป็นคำตอบของการแก้วิกฤติความขัดแย้งของประเทศอีกด้วย


น่าเสียดายที่โพลล์ของสำนักต่างๆ ไม่ได้สำรวจความเห็นของคนไทยว่า อยากได้อะไรจากการเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศสงบหรือไม่ หรือการเลือกตั้งทำให้ประเทศมีปัญหา ปัญหาอะไร


เพราะจากความหมายการเลือกตั้งทำนองดังกล่าวจากฝ่ายการเมือง และส่วนต่างๆ ทางสังคมในครั้งนี้ ได้ทำให้สาระหรือรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงถูกบิดเบือน จนไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจอุการณ์ เนื้อหาสาระและรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง


ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงแล้ว การเลือกตั้ง สส. ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็คือบทสะท้อนของระบบเผด็จการโดยกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจ หรือทุนสามานย์ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศไว้โดยผ่านการเลือกตั้ง ด้วยใช้เงินเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาทก็สามารถสัมปทานอำนาจปกครองประเทศได้


เช่นนี้แล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการประเมินผ่านการลงคะแนนเสียงว่า ประเทศจะถูกปกครองโดยระบบเผด็จการแบบไหน เผด็จการโดยใคร และมีความเป็นเผด็จการเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน


ยิ่งสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วยแล้ว วิธีการจึงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ เพราะนักการเมืองคิดแค่ว่าชัยชนะของการเลือกตั้ง คือการได้ซึ่งทั้งหมด ทั้งอำนาจผลประโยชน์ และความถูกต้องชอบธรรม


เขาเชื่อว่า ชัยชนะจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่างและเปลี่ยนแปลงทุกอย่างดัวยตัวของมันเอง ชัยชนะนี้ แท้ที่จริงก็เป็นเพียงชัยชนะของกลุ่มบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน หรือ ชัยชนะของประเทศ


ดังนั้น การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ในครั้ง จึงเป็นการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ใช่ระบบรัฐสวัสดิการที่แท้จริง หาเสียงแบบลดแลกแจกเพื่อหวังคะแนน ด้วยการโฆษณาเอาเงินอนาคตของประเทศมาซื้อเสียงในปัจจุบัน ล่อลวงการลงเสียงของประชาชน เพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชนแทนการแจกเงินแบบเดิมๆ


การกระทำดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการรวบอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งของระบบอำนาจนิยม คือ เมื่อได้อำนาจบริหารประเทศแล้ว ก็ยึดอำนาจการจัดการประเทศไว้ที่ตนเพียงกลุ่มเดียว โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารประเทศ เพราะเขาถือเอาว่าได้จ่ายประชาชนล่วงหน้าไปแล้ว


ประการสำคัญ เมื่อพิจารณานโยบายหาเสียงของทุกพรรคแล้วพบว่าไม่มีพรรคไหนเสนอนโยบายเพื่อการปฏิรูปประเทศที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม


หรือแม้แต่นโยบายการพัฒนาประเทศ แต่ละพรรคก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า เงินที่จะใช้ในนโยบายต่างๆ ของทุกพรรค ซึ่งรวมกันเกือบสี่แสนล้านบาทเป็นเงินมาจากไหนที่จะมานำใช้ในการดำเนินการ และนโยบายต่างๆ ของแต่ละพรรค ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรคนในประเทศ


ทั้งหมดของการเลือกตั้ง นโยบายการหาเสียงและรูปแบบการเลือกตั้ง จึงเป็นเพียงการใช้เงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อประชาชน เพื่อหวังให้เลือกตนและพรรคของตนเท่านั้น ไม่ใช่เลือกเพื่ออนาคตประเทศ


จากนี้ต่อไปสถานการณ์ประเทศหลังเลือกตั้ง ยังคงไม่สงบเหมือนเดิม พรรคการเมืองพรรคหนึ่งประกาศไปแล้ว หากเขาได้เสียงข้างมากแล้วไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน


คาดว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกตั้งนายกนายกรัฐมนตรี ก็จะมีการล้อมรัฐสภา เพื่อผลักดันให้พรรคที่ตนสนับสนุนได้เป็นรัฐบาล หากไม่ได้เป็น สงสัยบ้านเมืองจะต้องลุกไปไฟอีกครั้ง


คำตอบที่ว่า ทุกเรื่องจะจบลงที่สภาตามที่นักการเมืองคิด คำตอบคงไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน


ทั้งๆ ที่ นักการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน กว่า 50 % ผ่านทั้งเหตุการณ์ 14 คุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และบางคนก็มีส่วนกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 แต่ไม่มีใครสรุปบทเรียน


พวกเขา เหล่านี้ ยังคงยึดเอาอารมณ์ความรู้สึกความต้องการของตัวเองเป็นตัวตั้งมากกว่าอนาคตของประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็มีแนวโน้มว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นแน่นอน


สถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนจึงต้องแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของประเทศ ก็จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ด้วยการทำหน้าที่ปกป้องภัยของแผ่นดิน ไม่ปล่อยให้กลุ่มการเมืองใดทำลายชาติได้ตามอำเภอใจ พร้อมตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม


สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง คือ ประชาชนทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ที่มีองค์ความรู้จะต้องร่วมกันตรวจสอบนักการเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อขจัดนักการเมืองที่ทำลายชาติออกไปจากการเมืองไทย


ถึงเวลาแล้วทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบประเทศ นำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขโดยเร็ว



----------------------------------------------



หมายเหตุตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ไทยโพสต์


คอลัมน์ "ชานชาลาประชาชน" ฉบับวันที่ 3-8 กรกฎาคม 2554
ขอขอบคุณภาพจาก rsunews.net

ข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/mataharee/2011/07/03/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น